วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วันออกพรรษา

วันออกพรรษา

วันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นสำคัญวันหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์ คือ เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา หรือออกจากพรรษาที่ได้อธิษฐานเข้าจำพรรษาตลอดระยะเวลา3 เดือน ในวันออกพรรษาในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นวันที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา และแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่ชั้นดาวดึงส์
วันออกพรรษา หมายถึงวันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยที่ต้องอยู่ประจำที่หรือในวัดแห่งเดียวตลอด3 เดือน ในฤดูฝน กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แล้วอยู่ประจำที่หรือวัดนั้นเรื่อยไป จนสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากวันออกพรรษาแล้วก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้








วันออกพรรษา เรียกว่าอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา” หรือ “วันมหาปวารณา”คือวันที่พระสงฆ์ทำปวารณากรรม คือเปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยเมตตาจิตได้ เมื่อได้เห็นได้ทั้งหรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน




วันออกพรรษา วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก
วันออกพรรษา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
หลังจากทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา


ความสำคัญของวันออกพรรษา
วันออกพรรษา เป็นวันสำคัญของพุทธศาสนา ด้วยเหตุผลดังนี้

1. หลังจากวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้รับพระบรมพุทธานุญาตให้จาริกไปค้างแรมที่อื่นได้

2.เมื่อออกพรรษาแล้วพระสงฆ์จะได้นำความรู้จากหลักธรรมและประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างพรรษาไปเผยแผ่แก่ประชาชน

3. ในวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้ทำปวารณา เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนเรื่องความประพฤติของตนเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ความเคารพนับถือและความสามัคคีกัน

4. พุทธศาสนิกชนได้นำแบบอย่างไปทำปวารณาเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าว ตักเตือนตนเองเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตนและสร้างสรรค์สังคมต่อไป

ประวัติความเป็นมาของวันออกพรรษา


เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตุวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี มีพระภิกษุเหล่านั้นเกรงจะเกิดการขัดแย้งกันจนอยู่ไม่สุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกาว่าจะไม่พูดจากัน (มูควัตร) เมื่อถึงวันออกพรรษาพระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ แล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วปวารณากันในสามลักษณะ คือด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี”
การถือปฏิบัติวันออกพรรษาในประเทศไทย

วันออกพรรษา เป็นวันปวารณาของพระสงฆ์โดยตรง ที่จะต้องประชุมกันทำปวารณากรรมแทนอุโบสถกรรม สำหรับพุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ ก็ถือว่าเป็นวันพระสำคัญ มักนิยมไปทำทานรักษาศีลและฟังธรรมเป็นกรณีพิเศษ

นอกจากนี้ ยังมีประเพณีเนื่องด้วยวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “ประเพณีตักบาตรเทโว”

วันออกพรรษา 2554
วันออกพรรษา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จลงสู่มนุษย์โลก
ทางบันไดพาดลงใกล้เมืองสังกัสสะ

คำว่า “ตักบาตรเทโว” มาจากคำเต็มว่า “ตักบาตรเทโวโรหณะ” คือการตักบาตรเนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทบันทึกไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงบยมกปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์เป็นคู่ๆ)ที่ต้นมะม่วงใกล้เมืองสาวัตถีแล้วก็เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ 7บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศนาพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาเป็นเวลา 3 เดือน ครั้นออกพรรษาแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จลงสู่มนุษย์โลกทางบันไดพาดลงใกล้เมืองสังกัสสะ


หลักธรรมที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา



ในเทศกาลออกพรรษา มีหลักธรรมสำคัญที่ควรนำไปปฏิบัติ คือ ปวารณา การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้ ในการปวารณานี้อาจแบ่งบุคคลออกเป็น 2 ฝ่าย คือ


1. ผู้ว่ากล่าวตักเตือน จะต้องเป็นผู้มีเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ที่ตนว่ากล่าวตักเตือน เรียกว่ามีเมตตาทางกาย ทางวาจา และทางใจ พร้อมมูล

2. ผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือน ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน ดีใจดังมีผู้มาบอกขุมทรัพย์ให้
การปวารณา จึงเป็นคุณธรรมสร้างความสมัครสมานสามัคคีและดำรงความบริสุทธิ์หมดจดไว้ในสังคมพระสงฆ์ การปวารณา แม้จะเป็นสังฆกรรมของสงฆ์ ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมชาวบ้าน เช่น การปวารณากันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ในสถานศึกษา ในสถานที่ทำงาน พนักงานในห้างร้าน บริษัทและหน่วยงานราชการ เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของกิจกรรมวันออกพรรษา




1.เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวันออกพรรษารวมทั้งหลักธรรม เรื่อง ปวารณาและแนวทางปฏิบัติ


2.เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีทักษะในการคิดและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในวันออกพรรษา และสามารถเลือกสรรหลักธรรม คือปวารณา ไปใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อพัฒนาตนและสังคม


3. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเกิดเจตคติที่ดีต่อวันออกพรรษา และเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคือ ปวารณา


4. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเกิดศรัทธาซาบซึ้งและตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา

5. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีและปฏิบัติตนตามหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนได้อย่างถูกต้อง




วันออกพรรษา หรือวันมหาปวารณา


วันมหาปวารณา เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือน
เรื่องความประพฤติของตนเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาสู่เมืองสังกัสสะนครนั้น พระองค์ทรงเนรมิตให้เทวดามนุษย์ และสัตว์นรก สามารถมองเห็นซึ่งกันและกันได้ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่าเป็น“วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก”
วันออกพรรษา ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยเมตตาจิต ปรารถนาดีต่อผู้ถูกตัวเตือน ทั้งกาย วาจา ใจ ส่วนผู้ถูกตักเตือนก็ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้กล่าวตักเตือน โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันโดยมีความหมายว่า“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณากันในสามลักษณะคือ ด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี และด้วยการสงสัยก็ดี”
ประเพณีของชาวพุทธที่นิยมกระทำในเทศกาลออกพรรษาคือ







วันออกพรรษา-ตักบาตรเทโวโรหณะ


ประเพณีตักบาตรเป็นประเพณีที่ปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาล



1. ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ โดยในหลายที่ยังทำเป็นข้าวต้มลูกโยน มาไว้สำหรับใส่บาตรการตักบาตรเทโวเริ่มมาตั้งแต่ตอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชนจึงได้พร้อมใจกันนำภัตตาหารมาถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จนั้นมีจำนวนมาก บางพวกที่อยู่ห่างจึงไม่สามารถใส่อาหารลงในบาตรได้ จึงต้องทำข้าวให้เป็นก้อน แล้วโยนใส่บาตร จนกระทั่งเป็นประเพณีนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
ตักบาตรเทโว หมายถึง วันทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันออกพรรษาตามความเชื่อของพระพุทธศาสนิกชนว่าเป็นวันที่เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา


“เทโว” ย่อมาจากคำว่า “เทโวโรหนะ” ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก หมายถึง เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิณาณ แล้วทรงเทศนาโปรดประชาชนในแคว้นต่างๆ ของอินเดียตอนเหนือ ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นบิตุภูมิของพระองค์ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้า แล้วทรงปรารถนาจะสนองคุณพระมารดา ซึ่งหลังจากประสูติพระองค์ได้ 7 วัน ก็สิ้นพระชนม์ และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ฉะนั้นในพรรษาที่ 7หลังจากตรัสรู้พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11จึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสสะ ประชาชน พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น บางวัดก็ทำในวันออกพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11ทั้งนี้ แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัดและทางบ้าน
พิธีทำนั้นทางวัดอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก ซึ่งตั้งอยู่บนล้อเลื่อนไปช้าๆ นำหน้าพระสงฆ์ พระภิกษุสามเณรถือบาตรเดินตามไปโดยลำดับ พุทธศาสนิกชนต่างก็นำอาหารมาเรียงรายกันอยู่เป็นแถว ตามแนวทางที่รถบุษบกนั้นจะผ่านเพื่อตักบาตร ของที่นิยมใช้ตักบาตรเทโว ซึ่งนอกจากเป็นข้าวปลาอาหารทั่วๆ ไปแล้วยังมีข้าวต้มมัดใต้และข้าวต้มลูกโยนอีกด้วย

การที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่เพียงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เนื่องจากมีพระประสงค์จะให้พระพุทธมารดาได้บรรลุโลกุตรธรรมอันเป็นธรรมชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้

















2. ประเพณีทอดกฐิน ถือเป็นกาลทาน ที่เป็นประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง โดยมีระยะเวลา 1 เดือน หลังจากวันออกพรรษาคือวันแรม 1 ค่ำเดือน 11ไปจนถึงกลางเดือน 12


มหากฐินสามัคคีณ วัดพระธรรมกาย จ. ปทุมธานี
ประเพณีทอดกฐินมีระยะเวลา 1 เดือน หลังจากวันออกพรรษา

นอกจากประเพณีที่ถือปฏิบัติในวันออกพรรษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมและมีผู้สนใจไปร่วมกิจกรรมกันอย่างคับคั่ง คือ การชมบั้งไฟพญานาค ซึ่งเกิดขึ้นเพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้นคือวันออกพรรษา ซึ่งจะมีพุทธศาสนิกชนไปรอชมบั้งไฟกันทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะอำเภอโพนพิสัยที่มีปริมาณบั้งไฟขึ้นเยอะกว่าที่อื่นๆ


วันปิยมหาราช



๒๓ ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทุกปีจะมีการวางพวงมาลาดอกไม้ที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ครั้นนั้นเป็นที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เคารพรักของวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า พระปิยมหาราช หรือพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณีแล้ว ครั้งเมื่อบรรจบอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้สืบราชสันตติวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายตามราชประเพณี โดยเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหา-เศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอนันตสมาคมส่วนที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าที่นั่งอนันตสมาคม ที่เรียกว่าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างประดิษฐานขึ้นน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ทรงพระชนม์อยู่เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์ยั่งยืนนานถึง ๔๐ ปี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น
ต่อมาทางราชการได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคมซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้หยุดราชการวันหนึ่งในวันปิยมหาราช เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น กรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็นสำนักพระราชวัง ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติ ฉัตร ๕ ชั้น ประดับโคม ไฟ ราวเทียม กระถางธูป ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรก คือ ถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้ว ได้เสด็จฯไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์
พระราชประวัติ


สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์

พระบาทสมเด็จพระปริมทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า "สมเด็จเจ้าฬ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหากุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตรสิริวัฒนราชกุมาร" เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๙ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี พระบรมราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖
ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจากสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๓ ผู้ทรงรอบรู้ด้านอักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณีอย่างดียิ่ง นอกจากนั้นทรงศึกษาภาษามคธกับพระปริยัติธรรมธาดา(เนียม) เมื่อเป็นหลวงราชาภิรมย์ กรมราชบัณฑิต ทรงศึกษาวิชาการยิ่งปืนไฟจากสำนัก พระยาอภัยศรเพลิง(ศรี) ทรงศึกษาวิชาคชกรรมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และวิชาอื่นๆ อันสมควรแก่บรมราชกุมาร
นอกจากนี้ ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ จากชาวต่างประเทศโดยตรง คือ นางแอนนาเลียวโนแวนส์ ครูสตรีชาวอังกฤษ ต่อมาทรงศึกษากับหมอจันดเล ชาวอเมริกัน และ เมื่อเสวยราชสมบัติแล้ว พุทธศักราช ๒๔๑๖ ได้ทรงศึกษา ได้ทรงศึกษากับครูชาวอังกฤษ ชื่อฟรานซิส ยอร์จ แพตเตอสัน ต่อมาก็ทรงพระอุตสาหะศึกษาด้วยพระองค์เองจนมี ความรู้ภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน
ในด้านวิชารัฐศาสตร์ ราชประเพณีและโบราณคดีนั้น สมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นผู้พระราชทานการฝึกสอนด้วยพระองค์เองตลอดมา
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑ เหล่าเสนาบดีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ขึ้นเถลิงราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์


พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๑
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๑ ขณะนั้นทรงพระชนมายุเพียง ๑๔ พรรษา สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ รับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ระหว่างนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ คือ อินเดีย และชวา เพื่อทอดพระเนตรวิทยาการสมัยใหม่ที่ ประเทศทางตะวันตกนำมาเผยแพร่เพื่อนำเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศต่อไป


พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒
เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๖ และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่นคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          เทศกาลกินเจ ถือเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาวจีนที่มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพกาล  ซึ่งเทศกาลกินเจนั้น จะเริ่มขึ้นเมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) ของทุกปี โดยเมื่อถึงวันดังกล่าวประชาชนจะนำธงพื้นสีเหลืองซึ่งมีตัวอักษรจีนสีแดงโดดเด่นมาประดับตามร้านอาหาร หรือสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ได้เข้าร่วมเทศกาลกินเจนี้ และสำหรับเทศกาลกินเจ ปี 2555 จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 15  -23 ตุลาคม 2555 ซึ่งบางคนอาจกินเจล่วงหน้า 1 วัน หรือที่เรียกว่า "ล้างท้อง" นั่นเอง
 

          สำหรับใครที่ไม่เคยกินเจมาก่อน แล้วอยากทราบประวัติความเป็นมาของเทศกาลกินเจ รวมถึงต้องการเรียนรู้การกินเจอย่างถูกวิธี เพื่อให้ได้ผลดีต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ อย่างแท้จริงนั้น วันนี้ทีมงานกระปุกดอทคอม ได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับเทศกาลกินเจมาฝากแล้วค่ะ

ความหมายของเจ

          คำว่า "เจ" ในภาษาจีนทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีความหมายว่า "อุโบสถ" เดิมหมายความว่า "การรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน" ตามแบบอย่างของชาวพุทธที่รักษาอุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 ที่จะไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว แต่สำหรับพุทธนิกายมหายานนั้น การรักษาอุโบสถศีลจะรวมถึงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ด้วย เราจึงนิยมเรียกการไม่ทานเนื้อสัตว์รวมไปกับการกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่า "กินเจ" ดังนั้นความหมายของคนกินเจ ไม่เพียงแต่ไม่ทานเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ

          "การกินเจ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายถึง การถือศีลอย่างญวนและจีนที่ไม่กินของสดคาว แต่บริโภคอาหารประเภทผักที่ไม่มีของสดของคาวผสม ซึ่งมาจากรากศัพท์คำภาษาจีนที่ว่า "เจียฉ่าย" หมายถึง การกินอาหารผัก อาหารที่มาจากพืชผักธรรมชาติ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปน และไม่ปรุงด้วยผักฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ และงดเว้นน้ำนมสด นมข้นด้วย เพราะถือว่าเป็นของสดของคาว

ช่วงเวลากินเจ


          ประเพณีกินเจที่ชาวจีนเรียกกันว่า "เก้าอ๊วงเจ" หรือ "กิ้วอ๊วงเจ" แปลว่า "เจเดือน 9" เริ่มต้นในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน รวม 9 วัน 9 คืน ตรงกับเดือน 11 หรือเดือนตุลาคมของไทย (ตามปฏิทินสากล) สำหรับในปี พ.ศ. 2555 นี้ เริ่มวันที่ 15 - 23 ตุลาคม

          คำว่า "เก้าอ๊วง" หรือ "กิ้วอ๊วง" แปลว่า "พระราชา 9 องค์" หรือนพราชา หมายถึงผู้เป็นใหญ่ทั้ง 9 ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีกินผักกินเจ

ความหมายของ "ธงเจ"


          ในช่วงเทศกาลกินเจ เราจะสังเกตเห็นธงประจำเทศกาล โดยมีพื้นธงเป็นสีเหลืองซึ่งเป็นสีที่อนุญาตให้ใช้กับคนสองกลุ่มเท่านั้น คือกลุ่มกษัตริย์ ราชวงศ์ และกลุ่มอาจารย์ปราบผี ดังจะเห็นจากยันต์สีเหลืองตามภาพยนตร์จีน ดังนั้นสีเหลืองจึงเป็นสีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล บนธงจะเขียนตัวอักษรสีแดง อ่านว่า "ไจ" หรือ "เจ" มีความหมายว่า "ของไม่มีคาว" เหตุที่ใช้สีแดง เพราะชาวจีนเชื่อว่า เป็นสีมงคล สร้างความเจริญให้แก่ชีวิต

          ธงเจนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของอาหารเจแล้ว ยังเป็นการเตือนให้พุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตนถือศีลกินเจได้ตระหนักถึงการไม่ เบียดเบียนชีวิตสัตว์ และการตั้งอยู่ในศีลตลอดช่วงระยะเวลา 9 วัน 9 คืน

กินเจเพื่ออะไร


          จุดประสงค์หลักของการกินเจ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ

           1. กินเพื่อสุขภาพ เพราะอาหารเจเป็นอาหารชีวจิต เมื่อกินติดต่อกัน จะทำให้ร่างกายสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกายได้ และปรับระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้มีเสถียรภาพ

           2. กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากทุก ๆ วัน อาหารที่เรากินประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้ที่มีจิตใจดีงามจึงไม่สามารถกินเนื้อของสัตว์เหล่านั้นได้ 

           3. กินเพื่อเว้นกรรม เพราะการฆ่าเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นการสร้างกรรม แม้จะไม่ได้ลงมือฆ่าเองก็ตาม เพราะการซื้อผู้อื่นเท่ากับการจ้างฆ่า ถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย ผู้ที่เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมจึงหยุดกิน หันมารับประทานอาหารเจแทน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ให้อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น






ตำนานการกินเจ

          ตำนานที่มาของการกินเจ มีเรื่องเล่าอยู่ถึง 7 เรื่องได้แก่

ตำนานที่ 1 รำลึกถึงวีรชนทั้ง 9


          เทศกาลกินเจเริ่มขึ้นเมื่อ 400 กว่าปีที่แล้ว โดยชาวจีนกินเจเป็นการบำเพ็ญกุศลเพื่อรำลึกถึงวีรชน 9 คน ซึ่งเรียกว่า "หงี่หั่วท้วง" ซึ่งได้ต่อสู้กับชาวแมนจูผู้รุกรานอย่างกล้าหาญ ถึงแม้จะแพ้และต้องตายก็ตาม ดังนั้นเมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของชาวแมนจู จึงพากันนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึงเหล่านักสู้ "หงี่หั่วท้วง" ที่ได้ต่อสู้พลีชีพในครั้งนั้น เพราะเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยชำระจิตวิญญาณเกิดความเข้มแข็งทางร่างกาย และจิตใจ

ตำนานที่ 2 บูชาพระพุทธเจ้า

          เชื่อว่า เป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า "ดาวนพเคราะห์" ทั้ง 9 ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ ในพิธีกรรมบูชานี้ สาธุชนในพระพุทธศาสนาจะสละเวลาทางโลกมาบำเพ็ญศีล งดเว้นเนื้อสัตว์ และแต่งกายด้วยชุดขาว

ตำนานที่ 3 เก้าอ๊องฝ่ายมหายาน
 

          กล่าวไว้ว่า การกินเจเป็นพิธีปฏิบัติที่สืบต่อกันมาของชาวจีนในประเทศไทย เพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ ดังมีในพระสูตร ปั๊กเต๊าโก๋ว ฮุดเชียวไจเอียงชั่วเมียวเกง กล่าวไว้คือ พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ พระศรีรัตนโลกประภาโมษอิศวรพุทธะ พระเวปุลลรัตนโลกวรรณสิทธิพุทธะ พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ พระเวปุลลจันทรโภคไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ คือพระศรีสุขโลกปัทมอรรถอลังการโพธิสัตว์และพระศรีเวปุลกสังสารโลกสุขอิศวร โพธิสัตว์ รวมเป็น 9 พระองค์ (หรือ "เก้าอ๊อง")

          ทรงตั้งปณิธานจักโปรดสัตว์โลก จึงได้แบ่งกายมาเป็นเทพเจ้า 9 พระองค์ด้วยกันคือ ไต้อวยเอี๊ยงเม้งทัมหลังไทแชกุน ไต้เจียกอิมเจ็งกื้อมึ้งงวนแชกุน ไต้กวนจิงหยิ้งลุกช้งเจงแชกุน ไต้ฮั่งเฮี่ยงเม้งม่งเคียกนิวแชกุน ไต้ปิ๊กตังง้วนเนี้ยบเจงกังแชกุน ไต้โพ้วปั๊กเก๊กบู๊เอียกกี่แชกุน ไต้เพียวเทียนกวนพัวกุงกวนแชกุน ไต้ตั่งเม้งงั่วคูแชกุน ฮุ้ยกวงไตเพียกแชกุน เทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์ ทรงอำนาจตบะอันเรืองฤทธิ์บริหารธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง ทั่วทุกพิภพน้อยใหญ่สารทิศ

ตำนานที่ 4 พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้อง

          เชื่อว่า การกินเจเป็นการบูชากษัตริย์เป๊ง กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ้องซึ่งสิ้นพระชนม์โดยทรงทำอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) ในขณะที่เสด็จไต้หวันโดยทางเรือ เมื่อมีพระชนนมายุได้ 9 พรรษา พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้องนี้ มีแต่เฉพาะในมณฑลฮกเกี้ยนซึ่ง เป็นดินแดนผืนสุดท้ายของราชวงศ์ซ้องเท่านั้น โดยชาวฮกเกี้ยนได้จัดทำพิธีดังกล่าวนี้ขึ้นด้วยการอาศัยศาสนาบังหน้าการ เมือง ประเพณีนี้เข้ามาสู่เมืองไทยโดยชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพจากฮกเกี้ยนนำมาเผยแผ่ อีกทอดหนึ่ง

ตำนานที่ 5 เล่าเอี๋ย


          เมื่อ 1,500 ปีก่อน ณ มณฑลกังไสซึ่งเป็นแดนแห่งความเจริญรุ่งเรือง ฮ่องเต้เมืองนี้มีพระราชโอรส 9 พระองค์ซึ่งเก่งทั้งบุ๋น บู๊ ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ ยอมสวามิภักดิ์ ยกเว้นแคว้นก่งเลี้ยดที่มีอำนาจเข้มแข็ง และมีกองกำลังทหารที่เหนือกว่า ทั้งสองแคว้นทำศึกกันมาถึงครั้งที่ 4 แคว้นก่งเลี้ยดชนะโดยการทุ่มกองกำลังทหารที่มากกว่าหลายเท่าตัว โอบล้อมกองทัพพระราชโอรสทั้งเก้าไว้ทุกด้าน แต่กองทัพก่งเลี้ยดไม่สามารถบุกเข้าเมืองได้จึงถอยทัพกลับ จนวันหนึ่งชาวกังไสเกิดความแตกสามัคคีและเอาเปรียบกัน เทพยดาทราบว่า อีกไม่นานกังไสจะเกิดภัยพิบัติจึงหาผู้อาสาช่วย แต่ชาวบ้านจะพ้นภัยได้ก็ต่อเมื่อได้สร้างผลบุญของตนเอง ดวงวิญญาณพระราชโอรสองค์โตรับอาสา และเพ่งญาณเห็นว่า ควรเริ่มที่บ้านเศรษฐีใจบุญลีฮั้วก่าย

          คืนวันหนึ่งคนรับใช้แจ้งเศรษฐีลีฮั้วก่ายว่า มีขอทานโรคเรื้อนมาขอพบ เศรษฐีจึงมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เป็นค่าเดินทาง แต่ขอทานไม่ไป และประกาศให้ชาวเมืองถือศีลกินเจเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ผู้ใดทำตามภัยพิบัติจะหายไป เศรษฐีนำมาปฏิบัติก่อน และผู้อื่นจึงปฏิบัติตาม จนมีการจัดให้มีอุปรากรเป็นมหรสพในช่วงกินเจด้วย

          เล่าเอี๋ยเกิดศรัทธาประเพณีกินเจของมณฑลกังไส จึงได้ศึกษาตำราการกินเจของ เศรษฐีลีฮั้วก่ายที่บันทึกไว้ แต่ได้ดัดแปลงพิธีกรรมบางอย่างให้รัดกุมยิ่งขึ้นและให้มีพิธียกอ๋องฮ่องเต้ (พิธีเชิญพระอิศวรมาเป็นประธานในการกินเจ)

ตำนานที่ 6 เล่าเซ็ง

          มีชายขี้เมาคนหนึ่งชื่อ เล่าเซ็ง เข้าใจผิดว่า แม่ตนตายไปเพราะเป็นโรคขาดสารอาหาร จนคืนหนึ่งแม่มาเข้าฝันว่า ตนตายไปได้รับความสุขมาก เพราะแม่กินแต่อาหารเจ และหากลูกต้องการพบให้ไปที่เขาโพถ้อซัว บนเกาะน่ำไฮ้ ครั้นถึงเทศกาลไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิมที่เขาโพถ้อซัว เล่าเซ็งจึงขอตามเพื่อนบ้านไปไหว้พระโพธิสัตว์ด้วย โดยเพื่อนบ้านให้เล่าเซ็งสัญญาว่า จะไม่กินเหล้าและเนื้อสัตว์จึงยอมให้ไป แต่ระหว่างทางเล่าเซ็งผิดสัญญา เพื่อนบ้านจึงหนีไป โชคดีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งต้องการไปไหว้พระโพธิสัตว์เช่นกัน เขาจึงขอตามนางไปด้วย

          เมื่อถึงเขาโพถ้อซัว ขณะที่เล่าเซ็งก้มลงกราบพระโพธิสัตว์อยู่นั้น เขาเห็นแม่ลอยอยู่เหนือกระถางธูป แต่คนอื่นมองไม่เห็น ขณะเขาเดินทางกลับ ได้เจอกับเด็กชายยืนร้องไห้อยู่ จึงเข้าไปถามไถ่จนทราบว่า เด็กคนนั้นเป็นลูกชายของเขากับภรรยาเก่าที่เลิกกันไปนานแล้ว เขาจึงพาไปอยู่ด้วย และต่อมาหญิงสาวที่นำทางเล่าเซ็งไปพบพระโพธิสัตว์ได้มาขออยู่ด้วย ทั้งสามอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

          หญิงสาวคนนั้นเป็นสาวบริสุทธิ์ มีความประพฤติดี อยู่ในศีลธรรม และถือศีลกินเจอยู่เป็นประจำ นางรู้ว่าใกล้ถึงวันตายของนางแล้ว จึงบอกเล่าเซ็ง เมื่อถึงวันนั้นนางแต่งตัวด้วยอาภรณ์ขาวสะอาด นั่งสักครู่แล้วก็สิ้นลม เล่าเซ็งเห็นการจากไปด้วยดีของนางคล้ายกับแม่ จึงเกิดศรัทธา ยกสมบัติให้ลูกชาย แล้วประพฤติตัวใหม่ เมื่อตายไปจะได้บังเกิดผลเช่นเดียวกับแม่ และหญิงสาว ประเพณีกินเจจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่นั้น

ตำนานที่ 7 การกินเจที่ภูเก็ต

          มีคณะงิ้วจากเมืองจีน มาเปิดการแสดงที่อำเภอกะทู้นานเป็นแรมปี บังเอิญช่วงนั้นเกิดโรคระบาดขึ้น คณะงิ้วจึงจัดให้มีพิธีกินเจ และสร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อสะเดาะเคราะห์ หลังจากนั้นโรคระบาดก็หาย ชาวกะทู้เกิดความศรัทธาจึงปฏิบัติตาม หลังจากประกอบพิธีอยู่ประมาณ 2-3 ปี ก็มีผู้คนเลื่อมใสมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับอยากได้พิธีกินเจที่สมบูรณ์แบบตามประเพณีมณฑลกังไส ประเทศจีน จึงได้ส่งตัวแทนไปนำควันธูป (เหี่ยวเอี้ยน) จากกังไสให้ลอยมาถึงภูเก็ต โดยในการเดินทางกลับจะต้องคอยจุดธูปต่อกันมิให้ดับมอด ศาลเจ้ากะทู้จึงได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับของพิธีกินเจในปัจจุบัน

          สำหรับเมืองไทยความเชื่อเรื่องการกินเจ เป็นไปในแนวทางของการละเว้นการเอาชีวิตของสัตว์ เพื่อเป็นสักการะบูชาแก่พระพุทธเจ้า และมหาโพธิสัตว์กวนอิม อาจเนื่องจากการแพร่หลายของการละเว้นการกินเนื้อวัว ในกลุ่มคนที่นับถือ "เจ้าแม่กวนอิม" การกินเจจึงเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมเพื่อสักการะ

ภูเก็ต เมืองแห่งเทศกาลเจ

          จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่จัดประเพณีการกินเจอย่างยิ่งใหญ่ทุก ๆ ปี โดยมาจากรากฐานความเชื่อเดียวกัน คนจีนเรียก "เจเดือนเก้า" แต่ถ้านับตรงกับเดือนไทยก็จะได้ตรงกับเดือน 11 ดังนั้นเทศกาลกินเจที่ภูเก็ตจึงมีขึ้นหลังเทศกาลกินเจทั่ว ๆ ไป บางครั้งเราจึงมักได้ยินชื่อเรียกของเทศกาลกินเจที่ภูเก็ตว่า เป็นเทศกาลกินผัก ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือการกินเจในรูปแบบ และระยะเวลา 9 วันเช่นเดียวกัน

10 วันของเทศกาลกินเจ
          ประเพณีกินเจจะจัด 9 วัน 9 คืน โดยแต่ละวันมีพิธีต่าง ๆ กันดังนี้

          วันแรก แต่ละศาลเจ้าก็จะดูฤกษ์ยามว่า จะเชิญเจ้ามาเวลาไหน แต่ไม่เกินเที่ยงวัน โดยใช้ "ปวย" 2 อันเสี่ยงทายโดยการโยน 2 ครั้ง หาก 1 อันหงาย 1 อันคว่ำ แสดงว่า เจ้าทั้ง 9 ได้เสด็จลงมาแล้ว การกินเจจะเริ่มขึ้น แต่คนส่วนใหญ่มักทานกันล่วงหน้าเพื่อล้างท้อง

          ที่ภูเก็ตในตอนกลางคืนจะมีพิธียกเสา "โกเด้ง" ขึ้นที่หน้าศาลเจ้า หรืออ๊าม เพื่อใช้เป็นที่แขวนตะเกียงทั้ง 9 ดวง และอัญเชิญดวงวิญญาณของยกอ๋องฮ่องเต้ หรือ พระอิศวร และ กิวอ๋องไตเต หรือ ราชาผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้ามาประทับ

          เช้าวันที่สอง จะมีการจุดธูปขนาดใหญ่ ตั้งเครื่องเซ่นและเผาไม้หอม เพื่อบูชาเจ้าประจำอ๊าม

          หลังพิธีการกินเจ หรือชาวภูเก็ตเรียก "การกินผัก" ผ่านไป 3 วัน จะถือว่าตัวเองมีความสะอาดแล้ว หรือเรียกว่า "เช้ง" ในตอนค่ำมีพิธีการเชิญเจ้าเข้าทรงอีก 2 องค์ คือ "ลำเต้า" เจ้าผู้สำรวจคนเกิด และ "ปักเต้า" เจ้าผู้สำรวจคนตาย และทำพิธี "ปั้งกุ้น" หรือพิธีปล่อยพระ หรือการจัดทหารของเจ้าไปรักษาศาลเจ้าทั้ง 5 ทิศ เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย และภูตผีมาทำลายพิธี ความสนุกสนานเริ่มขึ้นตรงนี้ เมื่อการเชิญทหารเต็มไปด้วยร่างทรงของตัวละคร อาทิ เห้งเจีย บู๊สง เป็นต้น

          วันที่สี่ เป็นวันที่คนส่วนใหญ่จะมาไหว้เจ้า วันนี้ศาลเจ้าต่าง ๆ จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คน

          วันที่เจ็ด จะเริ่มพิธีบูชาดาว เพื่อขอความเป็นสิริมงคล รักษาโรคภัยไข้เจ็บ เป็นอีกวันหนึ่งที่มีการไหว้เจ้า แต่วันนี้สำคัญกว่าวันที่สี่ เรียกว่า "ไหว้เจ้าใหญ่" ในวันนี้จะมีการซื้อเต่า, ปลาไหล, นก ฯลฯ มาไหว้ด้วย

          วันที่แปด วันนี้จะมีการลอยกระทง คล้ายการลอยกระทงของคนไทย เพื่อขอบคุณเจ้าแม่คงคาที่ให้น้ำใช้ น้ำดื่ม และให้สิ่งไม่ดีลอยไปตามน้ำ นอกจากนี้ที่ภูเก็ตยังมีการจัดขบวนแห่อย่างมโหฬาร เพื่อนำเกี้ยวไปรับพระจำหลักที่สะพานหิน เป็นการระลึกถึงวันที่ควันธูปจากมณฑลกังไสมาถึงภูเก็ต ในขบวนแห่จะมีการแสดงอิทธิฤทธิ์ของม้าทรง หรือ คนทรงเจ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จะเห็นภาพของการใช้ของมีคมต่าง ๆ ทิ่มแทงตามร่างกาย มีทั้งง้าว ลูกตุ้มเหล็กฟาดหน้าฟาดหลัง เอาขวานจามหลัง หรือเอาเหล็กแหลมทิ่มแทงร่างกาย หรือแทงลิ้น จนกระทั่งเฉือนลิ้นตัวเองออกมา โดยทรงเหล่านั้นอ้างว่าไม่มีความเจ็บปวดใด ๆ ขณะเป็นร่างทรง ม้าทรงจะเดินเต้นไปทั่วเมือง ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้ เพื่อให้เจ้าไปโปรดและมีการจุดประทัดตลอดเส้นทาง ทั้งเกาะปกคลุมด้วยควันธูปและประทัด

          วันที่เก้า ช่วงเช้าจะมีพิธีทำทาน หรือเรียกว่า "ซิโกว" เป็นการให้ทานแก่ผีไม่มีญาติ ตอนกลางคืนจะมีแห่มังกร, สิงโต, ขบวนของเด็กที่จัดเพื่อเป็นสีสัน 

          ขณะที่จังหวัดภูเก็ตจะมีพิธีศักดิ์สิทธิ์ คือ พิธี "โก๊ยโห้ย" หรือพิธีลุยไฟสะเดาะเคราะห์ ม้าทรง หรือเจ้าจะเดินผ่านกองไฟ ที่มีถ่านร้อนแดงเป็นระยะทางกว่า 2 ฟุต และตามด้วยผู้ที่ถือศีลกินเจที่มีความมั่นใจว่าตัวเองสะอาดแล้ว ก็สามารถร่วมลุยไฟได้ด้วยเช่นกัน ในตอนกลางคืนจะมีพิธีปีนบันไดมีด สูงประมาณ 12 เมตร และจบลงที่ยามดึกของคืนวันที่ 9 จะมีการแห่พระไปส่งทะเลบริเวณสะพานหิน และนำเสาโกเต้งลง ดับโคมไฟทั้ง 9 เป็นเสร็จพิธีกินเจที่ภูเก็ต

          วันที่สิบ เป็นวันส่งเจ้ากลับ

อาหารเจ

          อาหารเจนับว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์ และไม่มีพิษต่อร่างกาย เพราะได้โปรตีนจากถั่วต่าง ๆ และยังย่อยง่ายเป็นการแบ่งเบาภาระของระบบย่อยอาหาร และระบบขับถ่าย ผู้ที่รับประทานเจ สามารถเลือกส่วนผสมดังต่อไปนี้มาปรุงอาหารได้ คือ ข้าวกล้อง (ใช้แทนข้าวขาว) โปรตีนเกษตร (แทนเนื้อสัตว์) ผักสด เห็ดหอม ถั่วนานาพันธุ์ เต้าหู้ แป้งหมี่กึง และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำเป็นอาหารชนิดต่าง ๆ ปัจจุบันมีเมนูอาหารจำนวนมาก ซึ่งหลายเมนูทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ได้เหมือนจริง เช่น ขาหมูเจที่ทำจากแป้ง และถั่ว ฯลฯ

ความแตกต่างของ "เจ" กับ "มังสวิรัติ"

          หลายคนอาจสงสัยว่า "กินเจ" ต่างกับ "กินมังสวิรัติ" อย่างไร เพราะอาหารมังสวิรัติก็เป็นอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบเช่นเดียวกัน แต่มังสวิรัติสามารถทานผักได้ทุกชนิด แต่ อาหารเจ ต้องเว้นผักฉุน 5 ประเภท คือ ผักชี กระเทียม หัวหอม (รวมทั้งหอมแดง หอมขาว หัวหอมใหญ่ ต้นหอม) หลักเกียว (กระเทียมโทนจีน ไม่ค่อยพบในประเทศไทย) กุยช่าย และใบยาสูบ รวมทั้งของเสพติดทุกชนิด และยังต้องประพฤติศีลร่วมด้วย จึงจะเป็นการถือศีลกินเจที่แท้จริง ขณะที่มังสวิรัติ หมายถึง การไม่รับประทานเนื้อสัตว์เท่านั้น

หลักธรรมในการกินเจ

          การกินเจตั้งมั่นอยู่บนหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ

           1. การดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือ ไม่เอาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายมาต่อเติมบำรุงเลี้ยงชีวิตของตน, ไม่เอาเลือดของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเลือดของตน และไม่เอาเนื้อของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเนื้อของตัวเอง

           2.การดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนตนเอง คือ จะรับประทานสิ่งใดเข้าไปต้องไม่ทำให้ร่างกายทรุดโทรมเท่ากับเป็นการเบียดเบียนตนเอง ดังนั้นจึงมีการห้ามของมึนเมา สารเสพติด ขณะที่วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ยืนยันว่า เลือดและเนื้อของสัตว์ที่ถูกฆ่าตายเต็มไปด้วยพิษภัยมากมาย เนื้อสัตว์เหล่านี้จึงจัดเป็นพิษชนิดหนึ่งเช่นกัน การละเว้นจึงส่งผลดีต่อร่างกายอีกด้วย


การปฏิบัติตนในช่วงกินเจ


          ช่วงเวลา 9 วันที่กินเจนั้น ผู้ที่ต้องการเป็นผู้ถือศีลกินเจอย่างครบสมบูรณ์ตามประเพณี ต้องปฏิบัติตัวดังนี้
 

           1. งดเว้นเนื้อสัตว์ และทำอันตรายต่อสัตว์

           2. งดนม เนย และน้ำมันที่มาจากสัตว์

           3. งดอาหารรสจัด ทั้งอาหารเผ็ด หวานจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด

           4. งดผักหรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เช่น ผักชี กระเทียม หัวหอม ต้นหอม หลักเกียว กุยช่าย รวมทั้งใบยาสูบ และของมึนเมาต่าง  ๆ เพราะผักดังกล่าวนี้ เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นเหม็นคาวรุนแรง นอกจากนี้ยังมีพิษคอยทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย เป็นเหตุให้อวัยวะหลักสำคัญภายใน ทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ

           5. รักษาศีลห้า

           6. ทำบุญทำทาน สำหรับคนที่เคร่งครัดจะนุ่งขาวห่มขาว

           7. รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์

          สำหรับผู้ที่เคร่งครัดมาก  ๆ จะทานอาหารเฉพาะที่คนกินเจด้วยกันเป็นคนปรุงเท่านั้น รวมทั้งจะต้องล้างหม้อจนสะอาด แยกภาชนะสำหรับใส่เนื้อสัตว์ออก เพื่อปรุงอาหารเจเฉพาะ นอกจากนี้ยังจุดตะเกียงไว้ 9 ดวงตลอดช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน โดยไม่ปล่อยให้ดับ เพื่อเป็นพุทธบูชา และรำลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ญาติพี่น้อง ตลอดจนผู้ที่มีบุญคุณต่อผืนแผ่นดินเกิด

ประโยชน์ของการกินเจ
 

          การกินอาหารเจ นอกจากจะเป็นการถือศีลรักษาประเพณี และละเว้นชีวิตแล้ว ยังให้ประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้

           1. ร่างกายสามารถขับถ่ายของเสียออกได้หมดทำให้ ไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ภายใน เพราะสารอาหารจากพืชผักและผลไม้จะช่วยให้ระบบขับถ่ายและการย่อยเป็นปกติ

           2. เมื่อรับประทานเป็นประจำ โลหิตจะถูกฟอกให้สะอาดขึ้นเรื่อย ๆ เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายเสื่อมสลายช้าลง ทำให้อายุยืนยาวมีผิวพรรณสดชื่นผ่องใส ร่างกายแข็งแรงรู้สึกมีสุขภาพดี

           3. อวัยวะหลักสำคัญภายใน ได้แก่ หัวใจ ไต ม้าม ตับ ปอด และอวัยวะประกอบคือ ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี แข็งแรงทำงานได้เป็นปกติสมบูรณ์

           4. ร่างกายสามารถต้านทานต่อสารพิษต่าง ๆ ได้แก่ สารเคมี ยาฆ่าแมลง มลภาวะ และก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ในอุตสาหกรรม ไอเสียจากเครื่องจักร เครื่องยนต์ ซึ่งสารอาหารในพืชผัก จะช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายสามารถทนต่อการทำลายจากรังสีต่าง ๆ ได้

           5. สามารถต้านทานสารพิษได้สูงกว่าคนปกติ ในบรรดาผู้ที่ทานเจมักไม่ปรากฏโรครุนแรงหรือเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดตีบ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคไต ฯลฯ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบขับถ่าย ย่อยอาหารและทางเดินอาหาร เช่น โรคริดสีดวงทวาร มะเร็งในกระเพาะและลำไส้ โรคกระเพาะ อาหารไม่ย่อย โรคเหล่านี้จะไม่พบเลยในกลุ่มคนผู้ที่รับประทานอาหารเจ อาหารพืชผักและผลไม้เป็นประจำ

           6. การกินเจทำให้เกิดความเมตตา เกิดความสงบสุขุม อารมณ์ไม่ฉุนเฉียว ไม่โมโหง่าย ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลส่งเสริมให้บารมีธรรมสูงขึ้นเรื่อย ๆ

           7. หยุดการสร้างบาป เวรกรรม ทำให้ไม่เกิดการอาฆาต พยาบาท จึงปราศจากศัตรูทั้งมนุษย์และสัตว์ที่คิดมุ่งทำร้ายตามจองเวร
               
          จากข้อมูลที่นำเสนอไปข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่า เทศกาลกินเจ ไม่ใช่แค่การงดรับประทานเนื้อสัตว์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการถือศีล และทำบุญ เพื่อให้ทั้งร่างกาย และจิตใจ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ซึ่งประโยชน์ของการเข้าร่วมเทศกาลกินเจ  นอกจากจะช่วยปรับสมดุลภายในร่างกาย ทำให้สุขภาพแข็งแรง ผิวพรรณผ่องใสแล้ว ยังส่งผลให้จิตใจสดชื่น เบิกบาน สามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น และมีความสุข
 
   
       ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า การเข้าร่วมเทศกาลกินเจ นอกจากจะทำให้อิ่มบุญ อิ่มใจ กันถ้วนหน้าแล้ว ผู้ที่หมั่นทำบุญ ถือศีล อย่างเคร่งครัด ย่อมได้รับสิ่งเข้าดี ๆ เข้ามาในชีวิตอีกด้วย แต่สำหรับท่านใดที่ไม่สะดวกในกินเจ สามารถถือศีล 5 ศีล หรือ 8 เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้เช่นกัน เมื่อรู้ข้อดีของการกินเจแล้ว วันที่ 15-23 ตุลาคม 2555 นี้ หากมีโอกาสก็อย่าลืมมาร่วมกินเจด้วยกันนะคะ